การถ่ายภาพตอนกลางคืน

ในการถ่ายภาพเวลากลางคืน แม้ว่าขาตั้งกล้องเป็นอุปกรณ์ที่จำเป็นสำหรับการป้องกันกล้องสั่นไหว แต่ขณะเดียวกัน การแน่ใจว่ากล้องจับโฟกัสอย่างเหมาะสมก็เป็นสิ่งสำคัญ เมื่อใช้เลนส์เดี่ยวสว่างๆ ที่มีค่ารูรับแสงน้อย ควบคู่กับฟังก์ชั่น Live View การถ่ายภาพกลางคืนให้มีโฟกัสคมชัดจะกลายเป็นเรื่องง่ายดายไปในทันที ในส่วนต่อไปนี้ ผมจะอธิบายถึงเทคนิคต่างๆ เพื่อให้ได้โฟกัสที่แม่นยำโดยการใช้ภาพขยาย ซึ่งเป็นฟังก์ชั่นที่ขาดไม่ได้ในการถ่ายภาพกลางคืน (เรื่องโดย: Ryosuke Takahashi)

EOS 5D Mark II/ EF35mm f/2/ Aperture-priority AE (f/8.0, 13 วินาที)/ ค่าชดเชยแสง: -1.0EV/ ISO 100/ WB: อัตโนมัติ

 
 มุมรับภาพและมุมมองเปอร์สเปคทีฟระดับปานกลางของทางยาวโฟกัส 35 มม. เหมาะสำหรับการถ่ายภาพยามค่ำคืน
ผมถ่ายภาพกลุ่มตึกสูงที่อยู่ตรงกับสระน้ำให้อยู่ในโฟกัสที่คมชัดด้วยเลนส์ EF35mm f/2 ภาพนี้ ผมเลือกใช้ฟังก์ชั่น Live View ในโหมดแมนนวลโฟกัส (MF) เมื่อมั่นใจในโฟกัสที่แม่นยำ ก็ทำให้สามารถดึงเอากำลังในการแยกรายละเอียดของเซนเซอร์ภาพแสดงออกมาอย่างเต็มที่ได้ ทางยาวโฟกัสของเลนส์ขนาด 35 มม. เหมาะอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพทั้งสแนปช็อตและภาพยามค่ำคืน เพราะเป็นเลนส์ที่ให้ภาพมุมกว้างและมุมมองเปอร์สเป็คทีฟในระดับปานกลาง เอื้อให้จัดองค์ประกอบภาพได้ง่าย นอกจากนี้ การใช้เลนส์ EF35mm f/2 IS USM รุ่นถัดจาก EF35mm f/2 ของ Canon ซึ่งมีชิ้นเลนส์แก้ความคลาดทรงกลม ทำให้คุณเพลิดเพลินกับการถ่ายทอดภาพด้วยคุณภาพสูงได้มากยิ่งขึ้น
จับโฟกัสอย่างแม่นยำโดยใช้ฟังก์ชั่น Live View
ขั้นตอนที่ 1: ติดตั้งกล้องเข้ากับขาตั้งกล้องให้แน่น                                                                                                                                                                                        ติดตั้งกล้องเข้ากับขาตั้งกล้องให้แน่น เพื่อให้แน่ใจว่าจะได้โฟกัสที่แม่นยำกว่า และดึงเอาศักยภาพของเซนเซอร์ภาพในการแยกรายละเอียดออกมาได้อย่างเต็มเปี่ยม สำหรับการถ่ายภาพยามค่ำคืนด้วยความไวแสง ISO ต่ำๆ นั้น การถ่ายโดยไม่ใช้ขาตั้งอาจเป็นวิธีที่ท้าทายอย่างมาก ไม่ว่าเลนส์จะสว่างเพียงใด ดังนั้น เพื่อป้องกันไม่ให้กำลังในการแยกรายละเอียดถูกลดทอนลงเนื่องจากกล้องสั่นไหว ให้คุณเลือกใช้ขาตั้งกล้องที่มีความมั่นคง
ขั้นตอนที่ 2: ปรับสวิตช์โหมดการโฟกัสของเลนส์มาที่ MF                                                                                                                                                                              ปรับสวิตช์โหมดโฟกัสบนตัวเลนส์มาที่ตำแหน่ง MF (สำหรับเลนส์ EF-M ซึ่งออกแบบมาเพื่อใช้กับกล้อง EOS M ให้ใช้หน้าจอเมนูบนตัวกล้อง) วิธีที่แน่นอนที่สุดที่จะได้โฟกัสคมชัดขณะถ่ายภาพกลางคืน คือ การใช้ฟังก์ชั่น Live View ควบคู่กับโหมด MF ในกรณีที่กล้องที่คุณใช้รองรับการถ่ายภาพ Live View เมื่อทำเช่นนี้ ความแม่นยำในการโฟกัสจะสูงมาก เนื่องจากกล้องจะจับโฟกัสขณะที่ภาพซึ่งฉายลงบนพื้นผิวเซนเซอร์ภาพถูกขยายใหญ่ขึ้นบนหน้าจอ LCD ด้านหลัง ข้อดีอีกอย่างหนึ่งจากหลายๆ ข้อ ก็คือ คุณสามารถปรับเปลี่ยนโฟกัสไปยังจุดใดของภาพก็ได้
ขั้นตอนที่ 3: เริ่มใช้ฟังก์ชั่น Live View                                                                                                                                                                                                             สำหรับกล้อง EOS 5D Mark III ปุ่มการถ่ายภาพแบบ Live View จะอยู่ที่ด้านล่างซ้ายของช่องมองภาพบริเวณด้านหลังตัวกล้อง กดปุ่มนี้เพื่อเริ่มต้นการถ่ายภาพแบบ Live View ระหว่างการถ่ายภาพแบบ Live View กระจกในตัวกล้องจะดีดขึ้นตลอดเวลา (ยกเว้นในโหมด Quick AF) จึงมีการกระตุกของกระจกเล็กน้อยเมื่อคุณปล่อยชัตเตอร์ นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เหมาะสมอย่างยิ่งสำหรับการถ่ายภาพยามค่ำคืนที่มีความเร็วชัตเตอร์ต่ำ ซึ่งมีแนวโน้มที่กล้องจะสั่นไหว
 ขั้นตอนที่ 4: ปรับระดับการตั้งกล้องด้วยการแสดงเส้นตาราง

แสดงเส้นตารางบนหน้าจอในเมนูฟังก์ชั่น Live View แล้วจัดองค์ประกอบภาพไปพร้อมๆ กับปรับระดับการตั้งกล้อง คุณสามารถทำได้โดยดูจากเส้นตรงของภาพตึกอาคาร และทาบเส้นตารางเป็นแนวเดียวกับเส้นดังกล่าว นอกจากนี้ ควรตรวจดูภาพอีกครั้งเพื่อหลีกเลี่ยงพื้นที่เงามืดหรือวัตถุที่ไม่ต้องการที่อาจอยู่ในองค์ประกอบภาพ

 ขั้นตอนที่ 5: ขยายภาพที่แสดงเพื่อการโฟกัสที่แม่นยำ
 
ระหว่างจัดองค์ประกอบภาพ คุณสามารถเลื่อนกรอบภาพขยายและขยายจุดใดๆ บนภาพได้ โดยกดปุ่มขยายซึ่งอยู่ทางด้านบนขวาด้านหลังตัวกล้อง การขยายภาพเช่นนี้ช่วยให้คุณจับโฟกัสได้แม่นยำกว่า การโฟกัสไม่มีขั้นตอนตายตัว แต่วิธีที่ง่ายคงเป็นการเลือกจุดที่ต้องการโฟกัสด้วยการขยาย 5 เท่า หรือใช้การโฟกัสที่แม่นยำยิ่งขึ้นด้วยการขยายถึง 10 เท่า เมื่อใช้คู่กับเลนส์ที่สว่างซึ่งมีค่ารูรับแสงน้อย ภาพ Live View จะดูชัดใสและเมื่อคุณขยายภาพที่แสดง ก็จะเห็นจุดรบกวนเพียงเล็กน้อย ช่วยให้การโฟกัสง่ายขึ้น
 ขั้นตอนที่ 6: ป้องกันปัญหาจากอาการกล้องสั่นด้วยการตั้งเวลา 2 วินาที

หลังจากทำการโฟกัสเสร็จแล้ว เลือกตั้งเวลา 2 วินาทีในโหมดขับเคลื่อน ในการตั้งค่านี้ กล้องจะลั่นชัตเตอร์เองภายใน 2 วินาทีหลังจากกดปุ่มชัตเตอร์ ช่วยลดอาการกล้องสั่นจากการกดปุ่มชัตเตอร์อย่างได้ผล การป้องกันอีกหนึ่งวิธี คือ การกดปุ่มชัตเตอร์ด้วยรีโมตคอนโทรล

 
คอลัมน์: การถ่ายภาพ Live View ทำได้ง่ายขึ้นมาก เพราะมีจอ LCD แบบปรับหมุนได้
หากคุณใช้กล้อง EOS 60D ซึ่งมาพร้อมกับจอ LCD แบบปรับหมุนได้ คุณสามารถปรับหมุนหน้าจอตามตำแหน่งที่คุณมองภาพ ช่วยให้การถ่ายภาพ Live View ทำได้สะดวกขึ้น เช่น หากคุณถ่ายภาพจากตำแหน่งที่สูงกว่าปกติโดยกล้องติดตั้งอยู่กับขาตั้งกล้อง ลองปรับหน้าจอ LCD แบบปรับหมุนได้ให้เอียงลง และดูภาพจากมุมตรงของหน้าจอ ในทางกลับกัน หากคุณถ่ายภาพโดยวางกล้องต่ำๆ คุณก็เพียงแค่ปรับเอียงจอ LCD ให้เงยขึ้น ไม่เพียงเท่านั้น ในหลายๆ ฉากที่แสงสะท้อนจากโคมไฟตามถนนและแหล่งแสงอื่นๆ มีผลต่อการมองเห็นจอ LCD คุณสามารถที่จะปรับหมุนมุมของจอให้ง่ายต่อการตรวจสอบโฟกัสให้มองเห็นชัดเจน
อ้างอิง https://snapshot.canon-asia.com/article/th/techniques-for-capturing-nightscapes-using-the-clear-and-pleasant-live-view-image